ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

                    โรงเรียนอนุบาลพิจิตร ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ บนที่ดินราชพัสดุ ในบริเวณโรงเรียนสตรีพิจิตร “พิจิตรกัลยาณี”
                    เรื่องเดิม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘  นายเยียน  โพธิสุวรรณ  ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายฉ่ำ  กันฟัก ศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร ได้เริ่มดำเนินการแต่งตั้งกรรมการขึ้นจัดการหาเงินก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตรขึ้นคณะหนึ่ง ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ ๓๒๑/๒๔๙๘ สั่ง  ณ  วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๔๙๘ ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
                   ๑. ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร                 ประธานกรรมการ
                   ๒. ปลัดจังหวัดพิจิตร                          กรรมการ
                   ๓. อนามัยจังหวัดพิจิตร                          “
                   ๔. ป่าไม้จังหวัดพิจิตร                            “
                   ๕. สรรพากรจังหวัดพิจิตร                       “
                   ๖. สรรพสามิตรจังหวัดพิจิตร                    “
                   ๗. ประมงจังหวัดพิจิตร                          “
                   ๘. สมาคมวัฒนธรรมฝ่ายหญิงจังหวัดพิจิตร     “
                   ๙. ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร                   “
                   ๑๐. สมาชิกสภาจังหวัดพิจิตร                   “
                   ๑๑. พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์             “
                   ๑๒. พระเมธีธรรมประนาท                      “
                   ๑๓. นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพิจิตร        “
                   ๑๔. นายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดพิจิตร      “
                   ๑๕. ศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร                 กรรมการและเลขานุการ
                    วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๔๙๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. ถึง ๑๕.๔๕ น.  คณะกรรมการได้ประชุมวางแนวทางดำเนินงานในทางหาเงินสมทบทุนก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ดังต่อไปนี้
                   ๑. จัดตั้งคณะกรรมการส่วนกลางที่จังหวัดขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร เป็นต้น  สำหรับดำเนินงานทั่วไป และติดต่อขอความร่วมมือบริจาคทรัพย์จากบรรดาพ่อค้าและคหบดีรายใหญ่ๆ โดยมีหนังสือแสดงศรัทธาบริจาคเป็นรายๆ ไป
                   ๒. จัดตั้งคณะกรรมการส่วนอำเภอ ตามอำเภอขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายอำเภอ นายกเทศมนตรี กำนันผู้ใหญ่บ้าน และคหบดีบางท่าน  สำหรับอำนายการและดำเนินงานทั่วไป ในส่วนของแต่ละอำเภอ
                   ๓. ขอให้นายอำเภอเชิญพ่อค้ามาประชุม และชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ทราบแล้วจัดตั้งอนุกรรมการส่วนตลาดการค้าขึ้นตามที่อำเภอเห็นสมควร เพื่อดำเนินงานการจัดหาเงินสมทบทุนสำหรับตลาดการค้าแห่งนั้นๆ และอำเภอน่าจะกำหนดวงเงินเป็นแห่งๆ ให้อนุกรรมการทราบไว้ด้วย  ทั้งนี้โดยขอให้คณะอนุกรรมการนั้นๆ ดำเนินการเอง
                   ๔. จัดหาพรรธรรมกะถีกแสดงพระธรรมเทศนา  ณ  ย่านชุมนุมชนเป็นบางแห่งในทุกๆ อำเภอในจังหวัดพิจิตร ตามที่นายอำเภอและคณะกรรมการส่วนอำเภอพิจารณาเห็นสมควร เพื่อรวบรวมเงินบูชาธรรมส่งสมทบทุนก่อสร้าง
                   ๕. ขอให้คณะอนุกรรมการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านแจกซองบูชาธรรม (ซึ่งจังหวัดกำลังจัดพิมพ์และจะส่งมายังอำเภอเมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้ว) แก่บรรดาพ่อค้า คหบดี และราษฎรทุกครัวเรือน โดยชี้แจงวัตถุประสงค์ให้ทราบก่อน แล้วรวบรวมซองบูชาธรรม (ขอให้ได้คืนครบจำนวน) ไปใส่ขันประจำกัณท์บูชาธรรม ตามตำบลที่ใกล้เคียงที่สุดที่จะจัดขึ้น  เมื่อจบการเทศนาแล้ว ขอให้อนุกรรมการเปิดซองบูชาธรรมตรวจนับจำนวนเงินนำส่งฝากอำเภอ
                   ๖. ให้แต่ละอำเภอนำเงินที่รวบรวมได้ส่งจังหวัด เป็นเงินบำรุงการศึกษาสำหรับสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตรต่อไป
                   ๗. วันแสดงพระธรรมเทศนาแห่งใด เมื่อใด ผู้ว่าราชการจังหวัดกับนายอำเภอจะได้ร่วมกันพิจารณากำหนดขึ้นภายหลัง
                   วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ จังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงศึกษาธิการ ตามหนังสือจังหวัดที่ ๑๔๑๘๕/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หารือเรื่องการจัดหาเงินสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ตามความเห็นของคณะกรรมการที่ได้วางแนวทางดำเนินการหาเงินสมทบทุนสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตรไว้  ต่อมาวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๙ จังหวัดได้รับหนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ๓๑/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๙๙ ตอบหนังสือของจังหวัดมาว่า “รู้สึกทราบซึ้งในเจตนาอันดีที่จังหวัดพยายามดำเนินการเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้การศึกษาอนุบาลแพร่หลาย แต่เสียใจซึ่งที่งบอาจสนองความปรารถนาอันดีนี้ได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายอยู่ว่าจะเปิดโรงเรียนอนุบาลเพื่อเป็นตัวอย่างแก่โรงเรียนราษฎร์ที่จะจัดตั้งขึ้นเพียงจังหวัดละ ๑ แห่ง เท่านั้น  ทั้งนี้เพราะงบประมาณที่ได้รับอยู่มีจำนวนจำกัด และขอให้จังหวัดพยายามหาทางสนับสนุนให้เอกชนหรือองค์การจัดตั้งโรงเรียนประเภทนี้ขึ้นเพื่อให้ตรงกับความประสงค์ของรัฐบาลที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนช่วยในการศึกษาของชาติต่อไป”
                   แม้กระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งขัดข้องมาตามข้อความดังกล่าวแล้วก็ดี  นายเยียน  โพธิสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัด และ นายฉ่ำ  กันฟัก ศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร ก็มิได้ละความพยายาม ได้ขอความร่วมมือจากนายแก้ว  สิงหคะเชนทร์ และนายเผด็จ  จิราภรณ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร ขอเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จากกระทรวงการคลังอีก  ครั้นต่อมาจังหวัดได้รับโทรเลขของนายแก้ว  สิงหคะเชนทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร ส่งรายงานงบประมาณปี ๒๕๐๐ ตามนัยหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนมาก ที่ ๖๕๓๙๖/๒๔๙๙ ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๙ แจ้งว่า ได้รับงบประมาณปี ๒๕๐๐ เป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตร เงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
การก่อสร้าง      จังหวัดได้ดำเนินการก่อสร้างตัวอาคารโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ตามแบบโรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยวิธีประกวดราคาตามระเบียบการจ้าง พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๐๐ นายเชาว์  เกรียงไกร ซึ่งเป็นผู้ยื่นประกวดราคาได้ต่ำที่สุดในราคา ๑๙๗,๘๐๐ บาท ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงเรียนอนุบาลพิจิตรจนเสร็จเรียบร้อย ได้ทำการส่งมอบเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๐
จังหวัดดำเนินการก่อนมีครูโรงเรียนอนุบาล     วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๐๑ ประกาศรับสมัครนักเรียนอนุบาลชาย-หญิง ประเภทไปเช้าเย็นกลับ เข้าเรียนจำนวน ๓๐ คน ดังต่อไปนี้
ก. คุณลักษณะ
                   ๑. ต้องมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคติดต่อใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน และต้องมีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ ตรวจรับรองด้วย
                   ๒. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓ ปี ครึ่ง และไม่เกิน ๕ ปี ครึ่ง
ข. การคัดเลือกนักเรียนอนุบาล
                   ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ตามลำดับก่อนหลัง ดังนี้
                   ๑. บิดามารดาถึงแก่กรรม
                   ๒. มารดาถึงแก่กรรม
                   ๓. บิดาถึงแก่กรรม
                   ๔. บิดาหรือมารดาเป็นครูในสถานศึกษาที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ หรือเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
                   ๕. บิดามารดาเป็นข้าราชการ
                   ๖. มารดามีบุตรตั้งแต่ ๖ คน ขึ้นไป         
                   ๗. บิดามารดาไม่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
ค. ค่าธรรมเนียม
                   ๑. ค่าสมัครแรกเข้าเรียน            ๑๐      บาท
                   ๒. ค่าบำรุงปีละ                     ๑๐๐    บาท
                   ๓. ค่าอาหารภาคละ                ๒๐๐    บาท
                       ต้นปีการศึกษา ๒๕๐๑ เก็บค่าอาหาร ๑๐๐ บาท เพราะเปิดเรียนไม่เต็มภาค คือ เปิดเรียนตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๑ เป็นต้นไป
                   วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๐๑ รับบรรจุคนงานภารโรง ๒ คน คือ นายสนิท  สุรรัตน์ และนางกบ  เผ่าสวัสดิ์
                   วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๐๑ จังหวัดได้บรรจุครูโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ๑ คน คือ นางสาวสุดใจ  กลิ่มจิตร์ วุฒิประโยคครูอนุบาล อัตราเงินเดือน ๖๐๐ บาท ก่อนบรรจุเป็นทางการ นางสาวสุดใจ  กลิ่มจิตร์ ได้มาช่วยจัดการงานขั้นต้นเพื่อเตรียมงานสำหรับจัดเปิดเรียนเป็นการถาวร แต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๑ โดยมิขอรับสินจ้างรางวัล
การดำรงโรงเรียน
                   โรงเรียนอนุบาลพิจิตร ดำรงอยู่ด้วยเงินงบประมาณในปีการศึกษา ๒๕๐๑ โรงเรียนได้รับเงินงบประมาณค่าใช้สอยจากกระทรวงศึกษาธิการ ๑๐,๐๐๐ บาท  จังหวัดได้ดำเนินการแทนครูใหญ่ช่วยจัดซื้อและใช้จ่ายเป็นค่าพัสดุ ครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องเขียนแบบพิมพ์ต่างๆ ของโรงเรียน ดังปรากฏในบัญชีพัสดุเคลื่อนที่ได้ของโรงเรียนแล้ว  นอกจากนั้น จังหวัดยังได้เครื่องอุปกรณ์การสอนการเรียนจากแผนกการศึกษาอนุบาล กองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา คือ โต๊ะ ๑๐ ตัว เก้าอี้นักเรียน ๑๐ ตัว ไม้ลื่น กระดานหมุน ถังอุโมงค์เคี่ยว ราวชิงช้า โต๊ะใส่น้ำหรือทราย บล้อกดัน ๑ ชุด ๑ ลุง บล้อกดันรูปเลขาคณิต ๑ ชุด มี ๑๐ รูป ผลไม้ปั้นต่างๆ ตามบัญชีพัสดุเคลื่อนที่ได้ของโรงเรียน
การจัดการสอน 
                   โรงเรียนอนุบาลพิจิตร ได้จัดการสอนตามหลักสูตรอนุบาล
วันเริ่มเปิดเรียน
                   วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๑ (วันพฤหัสบดี) เป็นวันเริ่มเปิดทำการสอนประจำ มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น ๒๕ คน ครู ๑ คน เปิดทำการสอน ๑ ห้องเรียน เนื่องจากโรงเรียนนี้ยังไม่มีครูใหญ่  จังหวัดจึงมอบให้นางสาวสุดใจ  กลิ่มจิตร์ ซึ่งเป็นข้าราชวิสามัญชั่วคราว เพื่อทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ ในตำแหน่งครูโรงเรียนอนุบาลพิจิตร ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งครูใหญ่ด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง และจังหวัดได้มอบให้เป็นผู้ดำเนินงานของโรงเรียนอนุบาลนี้โดยเด็ดขาดแต่วันนี้เป็นต้นไป
 
                                                                             ศึกษาธิการจังหวัดพิจิตร
                                                                             ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๑
 
ที่มา : สมุดหมายเหตุรายวัน ร.ร.อนุบาลพิจิตร เล่ม ๑ ได้เริ่มใช้สมุดเล่มนี้ วันที่ ๑๐ เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑